MENU
TH EN
แผนที่เมืองละโว้ (PLAN DE LA VILLE DE LOUVO) วาดขึ้นโดย มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ (Monsieur de Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส, ที่มา: www.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง: 3 มีนาคม 2566.
เมืองละโว้ ตอนที่ 201.
First revision: Mar.02, 2023
Last change: Mar.08, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 

แผนผังเมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ขยายจากแผนผัง "Plan de la Ville de Louvo" ที่สำรวจโดย เดอ ลา มาร์ วิศรกรชาวฝรั่งเศส), ที่มา: Facebook เพจ ราชธานีศรีอยุธยา, โดยผู้ใช้นามว่า Nat Kiat, วันที่เข้าถึง: 30 ตุลาคม 2565.
 
1. พระปรางค์สามยอด ลพบุรี
       พระปรางค์สามยอด ลพบุรีนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นปราสาทศิลปะแบบบายน ราว พ.ศ.1720 - 1773 บ้างก็ว่า พ.ศ.1724 - 1783 (ค.ศ.1181 - 1240) สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 (มหาบรมสุคตบท) (พ.ศ.1724 - ประมาณ1757) กษัตริย์กัมพูชาโบราณ ชนะพระราชาตะวันตก. โครงสร้างเป็นศิลาแลง ระดับปูนปั้น เป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยาน ตั้งอยู่ใกล้ศาลพระกาฬ.
       เป็นปราสาทศิลาแลงแบบกัมพูชาโบราณเรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) ด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อกับปราสาทประธาน เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ.2199 - 2231).
       ปราสาทศิลปะบายนทั้ง 3 องค์ เชื่อมต่อด้วยอันตรละ ซึ่งวางตัวในแนวเหนือ-ใต้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เช่น ปรางค์พรหมทัตที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประดิษฐานพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ที่สร้างเป็นปราสาทศิลาแลง 3 องค์เรียงกันในลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอด และปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น.
       ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่
  • พระอินทร์ (Indra) ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก
  • พระวรุณ (Váruṇa) ทรงหงส์ (ในหนังสือบางเล่มบ้างก็กล่าวว่าโดยหลักแล้วพระพิรุณจะทรงมกร - Makara) ประจำทิศตะวันตก
  • ท้าวกุเวร (Kubera) ทรงมกรทางทิศเหนือ และ
  • พระยม (Yama) ทรงกระบือ ทิศใต้
       ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด
บัวรัดเรือนธาตุ

       มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ.
ตอนกลางของเรือนธาตุ
            มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็กและลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ
บัวเชิงเรือนธาตุ
       ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นอริกับชาวกัมพูชาโบราณมาช้านานที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ.
       ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลง เมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศของศิลาแลงจะมีการขยายตัว ทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมารวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย.
       นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง.

พระปรางค์สามยอด ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
รูปเคารพในพระปรางค์สามยอด
       จากหลักฐานภาพถ่ายที่เก่าแก่ที่สุดในเวลานี้ที่ถูกถ่ายขึ้นในช่วงเวลาปี ค.ศ. 1908–1933 โดย Reginald S. Le May นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักการทูตชาวอังกฤษที่เคยรับราชการอยู่ในประเทศสยาม (ณ เวลานั้น) ทำให้ทราบว่าแต่เดิมภายในปราสาทประธานเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย (ทะเบียน ล.2831) ณ ตำแหน่งรูปเคารพประธานของพระปรางค์สามยอด บนแท่นสนานโทรณิที่ใช้เป็นแท่นรองสรงภายในปราสาทประธาน ปัจจุบันรูปเคารพประธานองค์นี้เก็บรักษาอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จากรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาท 3 องค์ที่พบภายในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่นิยมเรียกกันว่า "พระพิมพ์รัตนตรัยมหายาน" ทำให้ทราบอีกทางว่า แต่เดิมภายในปราสาทประธานของพระปรางค์สามยอดนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และอาจจะเคยประดิษฐานพระโพธิสัตว์องโลกิเตศวรในปราสาททิศใต้ และพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททิศเหนือ ดังที่ปรากฏบนพระพิมพ์ โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานจากกัมพูชาโบราณ.
       สำหรับรูปเคารพอื่น ๆ ได้แก่ พระอาทิพุทธะ หรือพระมหาไวโรจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่จารึกของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ เรียกว่า พระวัชรสัตว์ ในศิลปะกัมพูชาโบราณนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ส่วนพระโลเกศวรอันเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึกของกัมพูชาใช้เรียกพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงเป็นบุคลาธิษฐานของความเมตตากรุณาและสัญลักษณ์ของอุบาย (อุปายะ) และพระนางปรัชญาปารมิตา เทวนารีผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาอันล้ำเลิศบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร รูปเคารพทั้ง 3 นี้นิยมสร้างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 ซึ่งทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน โดยประกอบกันเป็นความหมายเชิงพุทธปรัชญาของลัทธิวัชรยาน กล่าวคือ พระโลเกศวรทรงเป็นตัวแทนของอุบาย หรือวิธีการอันแนบเนียนซึ่งใช้ไขเข้าสู่ปราชฺญา หรือปัญญาที่มีพระนางปรัชญาปารมิตาเป็นสัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การบรรลุพุทธสภาวะหรือศูนฺยตา ซึ่งแทนด้วยพระวัชรสัตว์.
       สำหรับรูปเคารพอื่น ๆ ที่พบในพระปรางค์สามยอดนั้น ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งกรมศิลปากรได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
วิหารหน้าพระปรางค์สามยอด
       เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพของวิหารคงเหลือเพียงผนังทั้ง 2 ข้างและผนังหุ้มกลองทางด้านทิศตะวันออก ส่วนเครื่องบนพังทลายไปหมดแล้ว ประตูของผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออกก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) แบบตะวันตก (บ้างก็ว่าเป็นแบบเปอร์เชีย) ส่วนประตูทางเข้าที่ผนังด้านข้างของวิหารและหน้าต่างที่ผนังด้านหลังของวิหารก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งกลีบบัว (pointed arch) แบบศิลปะแถบทะเลทราย ป้จจุบันเหลือเพียงซุ้มหน้าต่างด้านทิศเหนือเท่านั้น โครงสร้างผนังของก่ออิฐหนาทึบสลับกับศิลาแลงบางส่วน อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นเดียวกับกับอาคารที่สร้างขึ้นรัชสมัยนี้ที่นิยมก่อสร้างด้วยอิฐแทรกด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ เช่น พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาคารหลายหลังในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ด้านหลังของวิหารยกเก็จเป็นกะเปาะเชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ซึ่งการยกเก็จเป็นกะเปาะนี้เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวิหารซึ่งนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น พระที่นั่งจันทรพิศาล ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทำจากศิลา.
อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด
       อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด พิจารณาจากรูปแบบการก่อสร้างที่ใช้ศิลาแลงเป็นโครงสร้างพอกด้วยปูนและประดับด้วยลวดลายปูนปั้น อันเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในศิลปะบายนของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 และยังสอดคล้องกับรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาทสามยอด ที่ภายในแต่ละยอดประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก พระโลเกศวรสี่กร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่เคยประดิษฐานภายในปราสาททั้ง 3 หลังของพระปรางค์สามยอดด้วย โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 แห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ จากเหตุผลดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่าพระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ที่ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1724 ถึงประมาณ 1757
ส่วนวิหารด้านหน้าของพระปรางค์สามยอดคงสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยพิจารณาจากเทคนิคการสร้างซุ้มโค้งของประตูและหน้าต่างที่ก่ออิฐตะแคงเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) อันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังตัวอย่างจากซุ้มโค้งของบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งสร้างในรัชสมัยดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ผนังของวิหารซึ่งมีการเสริมศิลาแลงเข้าไประหว่างอิฐเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น เป็นเทคนิคที่นิยมในรัชสมัยนี้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในอาคารหลายหลังที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี.
อิทธิพลทางด้านศาสนาและการเมือง
       จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้ เพื่อประดิษฐานรูปพระวัชรสัตว์นาคปรก พระโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พุทธศาสนาลัทธิวัชรยานเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอาณาจักรกัมพูชาโบราณ เทียบได้กับศาสนาประจำอาณาจักรภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระองค์ ดังจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 ว่า หลังทรงครองราชย์ได้ 10 ปี ได้ทรงสร้างเทวรูปทำด้วยทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และศิลา เพื่อส่งไปพระราชทานยังเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์เป็นจำนวนถึง 20,400 องค์ และทรงส่งพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนาคปรกอีก 23 องค์ไว้ตามเมืองใหญ่ ๆ ในอาณาจักร เช่นที่ “ละโว้ทยปุระ” (จังหวัดลพบุรี) “สุวรรณปุระ” (จังหวัดสุพรรณบุรี) “ศัมพูกปัฏฏนะ” (เมืองหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย) “ชยราชบุรี” (จังหวัดราชบุรี) “ชยสิงหบุรี” (เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี) “ชยวัชรบุรี” (จังหวัดเพชรบุรี) ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีศักดิ์เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรกัมพูชาโบราณด้วย ดังปรากฏในจารึกของอาณาจักรกัมพูชาโบราณว่า เจ้าชายอินทรวรมเทวะ (ต่อมา คือ พระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 2) พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 กับพระนางชัยราชเทวี ทรงครองเมือง “ละโว้”
ต่อมาหลังการล่มสลายของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในอาณาจักรกัมพูชาโบราณ พระปรางค์สามยอดจึงได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาท ดังเห็นได้จากการสร้างวิหารเชื่อมต่อกับปราสาทประธานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองลพบุรี ในช่วงระยะเวลาที่เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองลพบุรีเกือบตลอดรัชกาล.
บนแผ่นฟิล์ม
       สัญลักษณ์ (โลโก้) บริษัทละโว้ภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระบิดาของพระองค์ จากหลักฐานในใบปิดโฆษณา มีภาพลายเส้นองค์พระปรางค์กำกับชื่อบริษัทแนวโค้งขนาดใหญ่ เรื่อง นางทาษ พ.ศ. 2498.
       ภาพสัญลักษณ์ที่หัวฟิล์มรุ่นไวด์สกรีน (พ.ศ.2500–2505) องค์พระปรางค์รูปหล่อปูนปั้นขนาดย่อส่วน มีสีขาวและชื่อบริษัทสีทองแนวตรงที่ฐานสีแดง ส่วนรุ่นซีเนมาสโคป (พ.ศ.2508–2523) มีสีทองสุกอร่ามทั้งองค์บนฐานสีแดง.
       ปัจจุบันองค์สีทอง จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถ.ศาลายา จ.นครปฐม.
       อนึ่ง ชลหมู่ ชลานุเคราะห์ อดีตผู้อำนวยเพลงวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร ศิษย์ของศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ (ผู้ประพันธ์เพลงประจำตราบริษัท/แฟนแฟร์) กล่าวถึงองค์พระปรางค์จำลองดังกล่าวว่า อาจเป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี.

พระวิษณุ, อายุราว พศว.ที่ 12-13 พบที่ศาลพระกาฬ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี, ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 4 มีนาคม 2566.
2. ศาลพระกาฬ
       ศาลพระกาฬ หรือเดิมเรียกว่า ศาลสูง เนื่องจากศาลตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่อยู่สูงจากพื้นดิน เป็นโบราณสถานและศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางวงเวียนชื่อ วงเวียนศรีสุนทร บนถนนนารายณ์มหาราช ในเขตตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์สามยอด และเส้นทางรถไฟสายเหนือ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน เจ้าพ่อพระกาฬ เทวรูปโบราณยุคกัมพูชาโบราณเรืองอำนาจ
ประวัติ
       ศาลพระกาฬนั้น สันนิษฐานกันว่าฐานศิลาแลงดังกล่าวเป็นฐานพระปรางค์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือสร้างสำเร็จแต่พังถล่มลงมาภายหลังโดยมิได้รับการซ่อมแซมให้ดีดังเดิม ศาลพระกาฬเป็นสิ่งก่อสร้างของกัมพูชาโบราณ สืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรีในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาโบราณ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของกัมพูชาโบราณในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ฌ็อง บวสเซอลิเยร์ ได้สันนิษฐานจากฐานพระปรางค์ที่สูงมากนี้ ว่าเขายังมิได้ข้อยุติว่าเป็นสถาปัตยกรรมกัมพูชาโบราณพุทธศตวรรษที่ 16" อาจเป็นฐานพระปรางค์จริงที่สร้างไม่เสร็จ หรือเสร็จแล้วแต่พังทลายลงมา" ทั้งนี้มีที่ศาลสูงมีการค้นพบศิลาจารึกศาลสูงภาษากัมพูชาโบราณ หลักที่ 1 และศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยม (จารึกหลักที่ 18) อักษรหลังปัลลาวะภาษามอญโบราณ จากกรณีจารึกเสาแปดเหลี่ยมที่หักพังนั้น พบว่าเสานี้ถูกทุบทำลายให้ล้มพังอยู่กับที่มิได้เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น จึงสันนิษฐานว่าศาลพระกาฬอาจเคยเป็นศาสนสถานของนิกายเถรวาทมาก่อน ภายหลังถูกดัดแปลงเป็นเทวสถานในนิกายไวษณพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแทน.
       รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงให้สร้างศาลเทพารักษ์ขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน มีลักษณะสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยม ทรงตึกเป็นแบบฝรั่งหรือเปอร์เซียผสมผสานกับไทยบนฐานศิลาแลงเดิม ตัวศาลเป็นอาคารชั้นเดียวหลบแดดขนาดสามห้อง ภายในบรรจุทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กับเทวรูปสีดำองค์หนึ่ง ประมาณกันว่าเป็นศาลประจำเมืองก็ว่าได้.
      รัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จประพาสเมืองลพบุรีในปี พ.ศ. 2421 ทรงให้ความเห็นเกี่ยวกับศาลสูง ความว่า "ออกจากพระปรางค์สามยอดเดินไปสักสองสามเส้น ถึงศาลพระกาล ที่หน้าศาลมีต้นไทรย้อย รากจดถึงดิน เป็นหลายราก ร่มชิดดี เขาทำแคร่ไว้สำหรับนั่งพัก...ที่ศาลพระกาลนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันใดหลายสิบขั้น ข้างบนเป็นศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ 4 ศอก เป็นเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา มีเทวรูปเล็ก ๆ เป็นพระอิศวรกับพระอุมาอีก 2 รูป ออกทางหลังศาลมีบันใดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑแผ่นหนึ่ง มีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์แผ่นหนึ่งวางเปะปะ ไม่ได้ตั้งเป็นที่..."
       ราวปี พ.ศ.2465 ศาลเทพารักษ์หลังเดิมขนาดสามห้องได้ทรุดโทรมลงมาก จึงมีการอัญเชิญเทวรูปองค์ดำดังกล่าวลงมาประดิษฐาน ณ เรือนไม้มุงสังกะสีบริเวณพระปรางค์ชั้นล่าง มีต้นไทรและกร่างปกคลุมทั่วบริเวณ ในปี พ.ศ.2480 จึงมีการสร้างกำแพงเตี้ย ๆ ก่อด้วยศิลาแลงโดยรอบ.
       ต่อมาในปี พ.ศ.2494 บ้างว่า พ.ศ.2495 ได้มีการสร้างศาลพระกาฬขึ้นใหม่เนื่องจากเรือนไม้สังกะสีเดิมได้ทรุดโทรมลง บางแห่งว่ามาจากการริเริ่มของศักดิ์ ไทยวัฒน์ ข้าหลวงประจำจังหวัดลพบุรีในขณะนั้นจากการสนับสนุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น บางแห่งว่าชลอ วนะภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับองค์กรอื่น ๆ รวมทั้งชาวลพบุรีและผู้ศรัทธาจำนวนมากเงินสำหรับก่อสร้างได้มาจากการเรี่ยไรจากชาวลพบุรีและใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 304,586.22 บาท ศาลพระกาฬหลังใหม่จึงถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมทรงไทยร่วมสมัยของกรมศิลปากรสมัยหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. 2496 ซึ่งดูเด่นเป็นสง่า ณ บริเวณหน้าฐานพระปรางค์โบราณ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2495.

พระกาฬ ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
เจ้าพ่อพระกาฬ
       เจ้าพ่อพระกาฬเป็นเทวรูปรุ่นเก่าซึ่งอาจเป็นพระวิษณุ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นเทวรูปรุ่นเก่า ศิลปะลพบุรี แต่เดิมเจ้าพ่อพระกาฬมีพระกายสีดำ ทำจากศิลา ไม่มีพระเศียร และพระกรทั้งหมด กล่าวกันว่าเจ้าพ่อพระกาฬได้ไปเข้าฝันผู้ประสงค์ดีท่านหนึ่ง นัยว่าขอพระเศียรและพระกรเท่าที่จะหามาได้ ซึ่งได้มีผู้ศรัทธาได้จัดหาเศียรพระศิลาทรายศิลปะสมัยอยุธยา ส่วนพระกรนั้นได้เพียงข้างเดียวจากทั้งหมดสี่ข้าง.
       ปัจจุบันเจ้าพ่อพระกาฬไม่เหลือเค้าเดิมซึ่งมีสีดำอีกแล้ว ด้วยถูกปิดทองจากผู้ศรัทธาแลดูเหลืองอร่ามจนสิ้น กล่าวกันว่าปีหนึ่งมีผู้มานมัสการไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน
ลิงศาลพระกาฬ
       ลิงศาลพระกาฬ หรือ ลิงเจ้าพ่อพระกาฬ ดั้งเดิมเป็นลิงแสม ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมดกว่า 500 ตัว ไม่นับรวมลิงกลุ่มอื่น ๆ ในลพบุรีที่มีกว่า 2,000 ตัว ทั้งนี้ทั้งนั้นลิงฝูงดังกล่าวมิได้มีความเกี่ยวข้องกับศาลพระกาฬเลยแต่อย่างใด แต่เดิมบริเวณโดยรอบศาลพระกาฬเป็นป่าคงมีลิงป่าอาศัยอยู่ ลิงดังกล่าวยังชีพด้วยของถวายแก้บน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้ ปัจจุบันลิงทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ
       ลิงศาล หรือ ลิงเจ้าพ่อ เป็นลิงฝูงใหญ่อาศัยบริเวณโดยรอบศาลพระกาฬช่วงเที่ยง และอาศัยที่พระปรางค์สามยอดและบางส่วนของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยช่วงเช้าและเย็น เมื่อพลบค่ำพวกมันจะกลับมานอนที่ศาลพระกาฬ กลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มักได้รับของเซ่นไหว้จากผู้ศรัทธาเสมอ ซึ่ง ลิงศาล อาจแบ่งย่อยได้อีกสามกลุ่มคือ กลุ่มศาลพระกาฬ, กลุ่มพระปรางค์สามยอด และกลุ่มโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย.
       ลิงมุมตึก หรือ ลิงนอกศาล หรือ ลิงตลาด เป็นลิงจรจัดซึ่งแตกหลงฝูงและมิได้รับการยอมรับกลับเข้าฝูง มักเร่ร่อนตามมุมตึก ร้านค้าบ้านเรือนในชุมชนเมืองลพบุรี ลิงกลุ่มนี้มักสร้างปัญหาและความเสียหายอยู่เสมอ.
       จำนวนลิงก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตลอดในเขตเมืองเก่า และเริ่มออกมาจากแหล่งเดิมไปอาศัยอยู่ย่านขนส่งสระแก้ว และสี่แยกเอราวัณซึ่งเป็นเขตเมืองใหม่ ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดที่จะควบคุมประชากรลิงมาตลอด อาทิ การทำหมันลิง จนในปลายปี พ.ศ. 2557 ได้มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ว่าลิงที่ศาลพระกาฬบางตาลงเนื่องจากทางเทศบาลเมืองลพบุรีได้ส่งเจ้าหน้าที่มาจับ การนี้จำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มาชี้แจงว่าลิงที่ถูกจับนั้นเป็นลิงที่แตกฝูงและเกเรไปไว้ที่สวนสัตว์ลพบุรีจำนวน 74 ตัว ที่ส่วนใหญ่อิดโรยและมีแผลทั่วตัว นอกจากนี้ยังพบว่ามีลิงศาลพระกาฬจำนวน 30-40 ตัวถูกจับและปล่อยทิ้งไว้ที่ตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ ภายหลังจึงมีแผนจัดการที่จะนำลิงไปไว้ที่ตำบลโพธิ์เก้าต้น อำเภอเมืองลพบุรี โดยทำในลักษณะสวนลิง.


3. พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ (วังนารายณ์)
       พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชวังฯ แห่งนี้จึงถูกทิ้งร้าง ต่อมารัชกาลที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2399 เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับ และเป็นราชธานีชั้นใน พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ปัจจุบันพื้นที่พระราชวังฯ บางส่วนยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยชาวเมืองลพบุรีจะนิยมเรียกพระราชวังฯ แห่งนี้กันติดปากว่า "วังนารายณ์".
ประวัติ
      สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ประมาณ 8-9 เดือนในช่วงปลายรัชกาลและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231.
       ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ราชนิเวศน์ถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์".
สิ่งก่อสร้างภายในพระราชวัง
       พื้นที่ทั้งหมดภายในพระราชวังแบ่งออกเป็น 3 เขตคือหลังสิ้นรัชกาลพระราชวังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมพระราชวังแห่งนี้และโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ปัจจุบัน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์.
เขตพระราชฐานชั้นนอก
       มีอาคารที่สร้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่
  • อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก จากบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าระบบการจ่ายทดน้ำ เป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาลี โดยน้ำที่เก็บในถังเป็นน้ำที่ไหลมาจากอ่างซับเหล็ก โดยผ่านมาทางท่อดินเผาที่เชื่อมมาจากอ่างซับเหล็ก เพื่อนำน้ำมาใช้ภายในพระราชวัง.
  • หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์หรือหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตั้งอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำและตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมืองมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผนังประตูและหน้าต่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมจำนวน 12 ห้องโดยเรียงกันเป็นแถวยาว 2 แถว แถวละ 6 ห้องมีถนนตัดผ่าตรงกลางระหว่างแถวสันนิษฐานว่าใช้เป็นสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติหรือเก็บของ.
  • ตึกพระเจ้าเหา สันนิษฐานว่าคงเป็นหอพระประจำพระราชวัง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในตึก ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้อาจมีชื่อว่า พระเจ้าเหา จึงเป็นที่มาของชื่อตึกแห่งนี้.
  • ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง ตั้งอยู่กลางอุทยานทางตอนใต้ของหมู่ตึกพระคลังผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะเป็นตึกชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนผนังเจาะเป็นช่องประตูและหน้าต่างลายโค้งแหลมล้อมรอบด้วยสระน้ำขนาดใหญ่ 3 สระตรงกลางสระมีน้ำพุมากกว่า 20 จุด สมเด็จพระนารายณ์ฯได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ใน พ.ศ.2228 และ พ.ศ.2230.
  • โรงช้างหลวง มีทั้งหมด 10 โรงด้วยกันและช้างที่ยืนโรงอยู่คงเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือเจ้านาย.
เขตพระราชฐานชั้นกลาง
       มีพระที่นั่งที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2 องค์ และสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์ ได้แก่
พระที่นั่งจันทรพิศาล
       พระที่นั่งจันทรพิศาลตามบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นหอประชุมองคมนตรีสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2401 ร.4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณที่เดิมเป็นพระที่นั่งสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ใช้เป็นท้องพระโรงด้านหน้ามีมุขเด็จสำหรับออกให้ข้าราชการเฝ้าภายในแบ่งเป็นท้องพระโรงหน้าด้านทิศตะวันออกและท้องพระโรงด้านทิศตะวันตกกั้นด้วยประตูซึ่งกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งในส่วนท้องพระโรงหลังมีบันไดเข้าออก 4 ช่องทางนอกจากนั้นยังมีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานมงกุฏ.
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
     พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2209 เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกรับคณะราชทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ที่เป็นการส่วนพระองค์) มียอดแหลมทรงมณฑป ศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานกับเปอร์เซีย ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงด้านหน้าทำเป็นรูปโค้งแหลมแบบเปอร์เซีย ส่วนตัวมณฑปด้านหลังทำประตูหน้าและหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์แบบไทย ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร เป็นที่เสด็จออกเพื่อมีปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้าในท้องพระโรงตอนหน้า.
       ผนังภายในท้องพระโรงประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งโปรดให้คนไปจัดซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส ดาวเพดานเป็นช่องสี่เหลี่ยมประดับลายดอกไม้ทองคำและแก้วผลึก ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่าง เจาะเป็นช่องเล็ก ๆ รูปโค้งแหลมคล้ายบัว สำหรับตั้งตะเกียงในเวลากลางคืน เช่นเดียวกับที่ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งมีช่องสำหรับวางตะเกียง ประมาณ 2,000 ช่อง.
พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
       หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ประกอบไปด้วยอาคารทั้งหมด 4 หลังโดยด้านหน้าสูง 2 ชั้นด้านหลังมีความสูง 3 ชั้นส่วนหน้าตรงกลางเป็นบันไดขนาดใหญ่ขนาบด้วยมุขซึ่งยื่นออกมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวาหลังคาเป็นโครงสร้างไม้ทรงปั้นหยายกจั่วสูงชายคาสั้นกุดมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยทับแนวด้วยปูนปั้นแบบจีนผนังเจาะช่องหน้าต่างระหว่างเสาและมีทุกชั้น.
  • พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ตั้งอยู่ด้านหลังสุดเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสามารถเข้าออกทางบันไดด้านนอกอาคารที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังโดยไม่ต้องผ่านบันไดใหญ่ด้านหน้าและท้องพระโรงห้องบนสุดเป็นห้องพระบรรทมชั้น2เป็นห้องเสวยหน้าบันเป็นรูปพระราชลัญจกรณ์ประจำรัชกาลที่ 4 รูปพระมหาพิชัยมงกุฎวางบนพาน.
  • พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงอยู่ด้านหน้าหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร.
  • พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นห้องเก็บอาวุธตั้งขนาบกับพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยทางทิศใต้.
  • พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นห้องทรงพระอักษรตั้งขนาบกับพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยทางทิศเหนือ
       เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาล เรียกว่าลพบุรีพิพิธภัณฑ์สถาน ต่อมาปี พ.ศ.2504 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ปัจจุบันมีการขยายห้องจัดแสดงมาถึงพระที่นั่งพิมานมงกุฎ มีสิ่งน่าสนใจดังนี้.
  • ชั้นที่ 1 จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,500-4,000 ปี เช่น ภาชนะดินเผารูปวัว โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหิน ขวานสำริด จารึกโบราณ เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย พระพิมพ์ที่พบตามกรุในลพบุรี รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โบราณวัตถุสมัยทวารวดี ฯลฯ
  • ชั้นที่ 2 จัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในลพบุรี เช่น ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพุทธรูปสมัยลพบุรีแบบต่าง ๆ เครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งของจีน และไทย เป็นต้น
  • ชั้นที่ 3 เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงฉลองพระองค์ เครื่องแก้ว และภาชนะที่มีตราประจำพระองค์.
ทิมดาบ
       ทิมดาบตั้งอยู่บริเวณด้านข้างประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลางมีจำนวนทั้งสิ้น 2 หลังทางทิศเหนือ 1 หลังทางทิศใต้ 1 หลังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 1 ชั้นมีช่องวงโค้งหันหน้ามาที่ทางเดินด้านหลังติดกำแพงพระราชวังหลังคามุงกระเบื้องดินเผาเป็นที่ตั้งของทหารรักษาการณ์เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ.
เขตพระราชฐานใน
       มีพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีอาคารที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้

 
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
 

รูปสันนิษฐาน พระที่นั่งสุทธาสวรรย์, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
  • พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นพระที่นั่งในเขตพระราชฐานชั้นในเป็นพระที่นั่ง 2 ชั้นก่ออิฐถือปูนมุงหลังคากระเบื้องเคลือบแบบจีน เป็นพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 โดยทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนฐานของพระที่นั่งองค์นี้.
  • หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐปูน 2 ชั้น มี 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
ข้อพิพาทด้านการบูรณะกำแพงและประตู
       ในปี พ.ศ.2553 ได้มีการบูรณะกำแพงและประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์โดยเริ่มจากกำแพงวังฝั่งตะวันตกฝั่งท่าขุนนาง โดยกรมศิลปากร ลักษณะของการบูรณะโดยการสกัดปูนเก่าที่ฉาบมาแต่เดิมเมื่อ 344 ปีก่อน แล้วทำการโบกปูนใหม่แล้วทาสีขาวทับ.
       อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2553 ทางด้านของภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี เปิดเผยกรณีสำนักศิลปากรที่ 4 ทำการบูรณะกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์อายุ 344 ปี ว่า การบูรณะดังกล่าว ไม่คำนึงถึงหลักวิชาการในการอนุรักษ์โบราณสถาน คือมีการสกัดปูนเก่าลวดลายดั้งเดิมออกทั้งหมด ทุบและโบกปูนสีขาวเกลี้ยงทับเสมือนสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งทางชมรมเห็นว่า กำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีคุณค่าด้วยความเป็นโบราณสถานร้าง ดังนั้นการบูรณะควรเป็นแบบรักษาคุณค่าความเก่าแก่มากกว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยการโบกปูนทับ จึงยื่นหนังสือคัดค้านไปหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้เพราะกรมศิลปากรยืนยันว่าบูรณะอย่างถูกต้องแล้ว ตนจึงเห็นว่าเป็นการบูรณะโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากภาคประชาชน นายภูธรยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางชมรมได้ต่อสู้มาจนถึงที่สุดแล้วทั้งส่งหนังสือไปยัง รมว.วัฒนธรรม, อธิบดีกรมศิลปากร, ผู้อำนวยการสำนักกรมศิลปากรที่ 4 และคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีผลต่อการหยุดยั้ง จากนี้ไปจะไม่ดำเนินการใด ๆ อีก เพราะถือว่าสายเกินไปที่จะหยุดการบูรณะซึ่งแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้นายภูธรยังเรียกการกระทำดังกล่าวว่า ความอัปยศใหม่ ไม่ใช่การบูรณะใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการบูรณะที่ทำกันอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้งบประมาณ พร้อมติติงเรื่องมุมมองการบูรณะโบราณสถานของกรมศิลปากร และตั้งคำถามถึงปัญหาด้านจรรยาบรรณทางวิชาชีพ รวมทั้งยกกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนประชาชนว่าอย่าวางใจการบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ และต้องช่วยกันรักและหวงแหนมรดกของประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม.
       ทางด้านเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า การบูรณะนั้นเป็นไปตามหลักการและถูกต้อง เนื่องจากภายในกำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพิพิธภัณฑ์ จึงจัดว่าเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต หรือมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ การบูรณะจึงต้องทำให้เกิดความมั่นคง แข็งแรงตามหลักฐานที่ปรากฏ ก่อนเริ่มบูรณะได้มีการศึกษารูปแบบ เทคนิค วิธีการสร้าง พร้อมทั้งศึกษาประวัติความเป็นมา จึงทราบว่าโบราณสถานแห่งนี้ได้ถูกซ่อมแซมและบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และมีการใช้ปูนซีเมนต์ในการบูรณะกว่าร้อยละ 70 ซึ่งตามหลักการแล้วปูนซีเมนต์ไม่ควรนำมาบูรณะโบราณสถาน เพราะก่อให้เกิดความเค็มและผุกร่อนได้ง่าย จึงต้องมีการสกัดปูนฉาบเก่านั้นออกให้หมด และฉาบด้วยปูนหมักที่มีส่วนผสมของซีเมนต์ กระดาษสา และทราย เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาการผุกร่อน.
       ส่วนนางสาวนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวลพบุรีได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังผู้ว่าราชการจังหวัด ว่ากำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์มีสภาพทรุดโทรมดังนั้น สำนักศิลปากรจึงได้เริ่มทำการบูรณะ ซึ่งการบูรณะไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องอนุรักษ์โบราณสถานเท่านั้น แต่เพื่อรองรับประโยชน์การใช้สอยในปัจจุบันด้วย เพราะสถานที่ดังกล่าว เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์และสถานที่จัดงานประจำจังหวัด.


4. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เดิมชื่อ ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีการแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็นสามอาคารซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและพระราชฐานชั้นใน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งจันทรพิศาล และหมู่ตึกพระประเทียบ ในอาคารเหล่านี้ได้จัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์ที่พบภายในจังหวัดลพบุรีและใกล้เคียง รวมทั้งมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อันแสดงถึงวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำภาคกลาง ส่วนอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารทรงปั้นหยาสีเขียว ตั้งแยกออกมาต่างหากในเขตพระราชฐานชั้นนอกใกล้กับประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์ด้านถนนสรศักดิ์ เดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี.
       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09:00-16:00 น. เสียค่าเข้าชมในอัตราชาวไทย 30 บาท และชาวต่างประเทศ 150 บาท กรณีนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ และนักบวชไม่เสียค่าธรรมเนียม
       เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไปตรวจราชการที่เมืองลพบุรี ทรงพบว่ามีโบราณวัตถุกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทรงมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุขึ้น โดยใช้พื้นที่ของพระที่นั่งจันทรพิศาลภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์สำหรับจัดแสดง ใช้ชื่อว่า ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ.2504
       ทั้งนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารเพิ่มอีกได้เพราะตั้งอยู่ภายในโบราณสถาน จึงต้องทำการบูรณะอาคารเก่าเพื่อยังประโยชน์ใช้สอยของพิพิธภัณฑ์ เช่นการซ่อมแซมหมู่ตึกพระประเทียบ และการซ่อมแซมทิมดาบซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง

แผนผังพระนารายณ์ราชนิเวศน์, ถ่ายไว้เมื่อ 4 มีนาคม 2566, ลพบุรี.

       ตึกพระเจ้าเหา (อาจจะมาจากข้อสันนิษฐาน 1). House ที่ฝรั่งเรียกหอพระว่า God's house 2). ภาษาเขมร เป็นราชศัพท์ แปลว่า รวมกันเข้าหา เสมือนหนึ่งเป็นที่ประชุม (เป็นข้อมูลที่กรมพระยาดำรงฯ ตรัสถาม ยอร์ เซเดส์) 3). อาจจะแผลงมาจาก Hall ตึกที่ขุนนางมาประชุมปรีกษาราชการ - Convention Hall 4). พระเจ้าเหาเป็นชื่อพระพุทธรูป ที่พระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ เหา อาจจะมาจากคำว่า หาว  (ท้องฟ้า หรือ สวรรค์)03.
วัตถุที่จัดแสดง
  • เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงภายในพระที่นั่งจันทรพิศาล ว่าด้วยพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีภาพเหตุการณ์สำคัญในรัชกาล และโบราณวัตถุจากสมัยดังกล่าว
  • โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (3,500-4,000 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา สัมฤทธิ์ และโลหะ เป็นต้น.
  • วัฒนธรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยโบราณวัตถุและศาสนวัตถุของทวารวดีและจากรัฐที่ทำการค้าด้วย เช่น ภาชนะดินเผา ตะคันดินเผา เครื่องประดับ กำไล ต่างหู จารึกภาษามอญโบราณ จารึกภาษาสันสกฤต จารึกภาษาบาลี และจารึกอักษรปัลลวะ รวมไปถึงสิ่งของตามความเชื่อดั้งเดิมก่อนรับศาสนาจากอินเดีย เช่น ตุ๊กตาดินเผา.
  • ศิลปะเขมรและสมัยลพบุรี (1,400-1,800 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยโบราณวัตถุอิทธิพลขอมจากปราสาทขอมในลพบุรี เช่น ศิลาจารึก เศียรพระโพธิสัตว์ และทับหลังที่ได้ปรางค์สามยอด ปรางค์แขก และพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
  • ศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยพระพุทธรูป แผงพระพิมพ์ เครื่องถ้วยต่าง ๆ และอาวุธโบราณ
  • พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3 ประกอบด้วยพระแท่นบรรทมจากพระราชวังจันทรเกษม เงินพดด้วงประทับตรามงกุฎ เหรียญกษาปณ์ทองคำตรามงกุฎ บรรณาการ และเครื่องใช้ต่าง ๆ
  • วิถี ผู้คน ตัวตน คนลพบุรี จัดแสดงภายในโรงครัวของหมู่ตีกพระประเทียบ จัดเรื่องวิถีชีวิตของคนไทยภาคกลางและคนลพบุรีในอดีต มีเครื่องใช้จัดแสดงไว้ เช่น เตา หม้อ ครก กระจ่า กระต่ายขูดมะพร้าว การทอผ้า การปั้นหม้อดินเผา และการทำดินสอพอง เป็นต้น
พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
      เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง คือเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อประมาณ 3,500 - 4,000 ปีมาแล้ว จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี ในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ แหล่งโบราณคดีบ้านดงมะรุม แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ และ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ และเครื่องประดับที่ทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงโบราณคดีบ้านท่าแค จ. ลพบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500 - 1,000 ปี.
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1
       อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.700 - 1400 จำแนกเป็นเรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐาน และการดำรงชีวิต อักษร-ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบในจังหวัดลพบุรี โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหรียญ ตราประทับ จารึก ฯลฯ.
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2
       จัดแสดงนิทรรศการถาวร 4 เรื่อง คือ เรื่องประวัติศาสตร์และศิลปกรรมภาคกลางของประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 หรือสมัยอิทธิพลศิลปะเขมร โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมแบบต่าง ๆ ที่พบในภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คือ ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ประเทศไทย (ศิลปะศรีวิชัย) ศิลปะทางภาคเหนือศิลปะล้านนาและศิลปะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การแสดงเครื่องถ้วยที่พบในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องถ้วยแบบต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และศิลปโบราณวัตถุ พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ศิลปสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูป บานประตูไม้แกะสลัก ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม เหรียญตรา ผ้า เครื่องเงิน-ทอง เครื่องถ้วย ฯลฯ.
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3
       แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ.
พระที่นั่งจันทรพิศาล
       พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง คือ
       1. เรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ที่ชาวต่างประเทศได้วาดไว้ และโบราณวัตถุที่มีอายุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมไปถึงการติดต่อกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส ในสมัยนั้นเป็นต้น.
       2. เรื่องศาสนวัตถุต่าง ๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19 - 24 (สมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์) จัดแสดงตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ตาลปัตร สมุดไทย
หมู่ตึกพระประเทียบ
       หมู่ตึกพระประเทียบ เป็นนเขตพระราชฐานชั้นใน สมัยรัชกาลที่ 4 มี 8 หลัง ได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง ได้แก่
       1. เรื่องชีวิตไทยภาคกลาง (พิพิธภัณฑ์ชาวนา) จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง
       2. เรื่องหนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่ของจังหวัดลพบุรีที่ได้จากวัดตะเคียน และวัดสำราญ


5. บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์


6. สระมโนราห์02.

       สระมโนราห์ บ้างก็เรียก สระมโนรา เป็นสระน้ำโบราณตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของโบราณสถานปรางค์สามยอด ภายในเขตเมืองชั้นในของเมืองลพบุรี มีผังโดยรวมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างประมาณ 82 เมตร ความยาว 86 เมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสระมะโนรา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 905 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479 ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับที่ 320/2486 ระบุว่า สระมะโนรามีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน.
       ในปี พ.ศ.2561 สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ได้ทำการขุดตรวจทางโบราณคดีสระมะโนรา พบหลักฐานว่ามีการใช้พื้นที่แหล่งน้ำบริเวณนี้ มาตั้งแต่ราว พศว.16 ในสมัยทวารวดีเป็นต้นมา สระมโนราเป็นสระหนึ่งในสองแห่งของเขตชั้นในเมืองลพบุรี สระอีกแห่งคือสระน้ำบริเวณหลังวัดนครโกษา จากหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณขอบสระทางทิศใต้ ปรากฎร่องรอยของฐานโบราณสถานที่ใช้อิฐขนาดใหญ่เรียงเป็นพื้นต่อกันเป็นแนวขนาด 1.5 * 2.0 เมตร พบอิฐชำรุดแตกหักกระจายอยู่ทั่วไป เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นพื้นโดยรอบขอบสระน้ำโบราณเดิม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อไฟเพื่อประกอบอาหาร และเปลือกหอยโข่งขนาดใหญ่จำนวนมาก แสดงถึงน้ำในสระมโนรานี้สะอาด หากไม่สะอาดจริง หอยโข่งจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และพบว่าระดับพื้นล่างของสระมโนรานั้นลึกกว่าแม่น้ำลพบุรีอยู่ถึง 3 เมตร มีการค้นพบ หม้อดินเผาแบบมีสัน ชามดินเผาแบบมีสัน และชามดินเผาก้นลึก กำหนดอายุราว พศว.ที่ 16-17.
       พบชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายรูปหน้าเทวดา ชิ้นส่วนลำตัวประติมากรรมดินเผานุ่งผ้า ลายกนก พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเขมรจากแหล่งเตาจังหวัดบุรีรัมย์ ชิ้นส่วนไหดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาในเมืองหริภุญชัย แท่นหินบดและหินบด สระมโนราเป็นแหล่งน้ำสำคัญจนมาถึง พศว.ที่ 17-18 และต่อเนื่องมาถึง พศว.ที่ 19 เพราะพบเครื่องปั้นดินเผาในครัวเรือน เช่น หม้อดินเผาเนื้อดิน พวยกาดินเผา ชิ้นส่วนไหเนื้อแกร่งมีการตกแต่งผิวด้วยการขุดเป็นลายเส้นคลื่น กระปุกสังคโลกจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนแบบเคลือบสีเขียว แหล่งเตาหลงเฉวียน สมัยราชวงศ์หยวน ตลอดจนต่อเนื่องมาถึง พศว.ที่ 23 เพราะพบชิ้นส่วนชามเขียนสีน้ำเงินใต้ เคลือบใส สมัยราชวงศ์ชิงตอนกลาง.
       จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลายจากแผนที่เมืองละโว้ (PLAN DE LA VILLE DE LOUVO) ซึ่งเขียนขึ้นโดย มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ (Monsier de Lamare) วิศวรกรชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาพร้อมคณะทูต เดอ โชมองต์ ในปี พ.ศ.2228 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสระมโนราได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ราชอุทยาน 'Le Jardin royal' (ตัวอักษร G) ที่เป็น Hero Image ข้างต้น.   


7. วัดเสาธงทอง


8. วัดเชิงท่า


9. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
   รายละเอียดดูในสถานที่ และศาสนสถานที่สำคัญในอุษาคเนย์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

10. วัดนครโกษา

วัดนครโกษา ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
 
       วัดนครโกษา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสถานีรถไฟลพบุรี ด้านตะวันออกใกล้กับศาลพระกาฬ ในท้องที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นศาสนสถานที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เดิมคงเป็นเทวสถานของขอม มีพระปรางค์แบบลพบุรีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 อยู่ด้านหน้า แต่พระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นคงสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ได้พบเทวรูปหินขนาดใหญ่แบบลพบุรี ซึ่งมีร่องรอยดัดแปลงเป็นพระพุทธรูป 2 องค์ (ปัจจุบันนำไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์) ส่วนพระอุโบสถ วิหาร สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างเมืองลพบุรี และสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่งานดำเนินการในครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่า "วัดนครโกษา" ในปี พ.ศ.2529-2530 กรมศิลปากรทำการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ได้พบประติมากรรมในสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป รูปบุคคล ยักษ์ ลวดลายประกอบสถาปัตยกรรม และพระพิมพ์ดินเผา และได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ วัดนครโกษาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479
       มีพัฒนาการต่อเนื่องจากวัดศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี บริเวณปีกขนุนของพระปรางค์ พบพระพุทธรูปปรางค์พระป่าเลไลยก์ เหมือนที่ปราสาทพระป่าเลไลย์ ที่เมืองพระนคร เสียมเรียบ

11. วัดพระยาออก


12. วัดบันไดหิน


13. วัดกวิศราราม


ที่มา ศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจาก: th.wikipedia.org เป็นข้อมูลหลักแล้วนำข้อมูลจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเติม ตลอดจนการเข้าสำรวจพื้นที่เองของข้าพเจ้า.
02. จาก. www.finearts.go.th, เรียบเรียงโดยคุณเดชา สุดสวาท นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี, วันที่เข้าถึง 3 มีนาคม 2566.
03. อ้างจาก. www.matichonacademy.com, โดยอาจารย์ภูธร ภูมะธน,  วันที่เข้าถึง 5 มีนาคม 2565.



 
info@huexonline.com